เมนู

พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [22. พาวีสติมวรรค] 9. อาเสวนปัจจยตากถา (216)
สก. หากบุคคลอาจทำประทักษิณพระเจดีย์ได้ด้วยความฝัน ท่านก็ไม่ควร
ยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
[902] ปร. ท่านไม่ยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
ใช่ไหม
สก. ใช่
ปร. จิตของบุคคลผู้ฝัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอัพโพหาริก” มิใช่หรือ
สก. ใช่
ปร. หากจิตของบุคคลผู้ฝัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “เป็นอัพโพหาริก”
ดังนั้น ท่านจึงควรยอมรับว่า “จิตของบุคคลผู้ฝันทุกดวงเป็นอัพยากฤต”
อัพยากตกถา จบ

9. อาเสวนปัจจยตากถา (216)
ว่าด้วยความเป็นอาเสวนปัจจัย
[903] สก. ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างไม่มีใช่ไหม
ปร.1 ใช่2
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย ปาณาติบาต
(การฆ่าสัตว์) ที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก
อำนวยผลให้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อำนวยผลให้ไปเกิดในภูมิแห่งเปรต วิบาก
แห่งปาณาติบาตอย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้เป็นผู้มีอายุสั้นแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์”3
มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ปร. หมายถึงภิกษุในนิกายอุตตราปถกะบางพวก (อภิ.ปญฺจ.อ. 903-905/322)
2 เพราะมีความเห็นว่า สภาวธรรมทุกอย่างตั้งอยู่ชั่วขณะเดียว แม้มีสภาวธรรมบางอย่างตั้งอยู่ชั่วมุหุตตะเดียว
ก็เป็นอาเสวนปัจจัยไม่ได้ ฉะนั้น ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างจึงไม่มี ธรรมบางอย่างที่เกิดเพราะ
อาเสวนปัจจัยไม่มีด้วย ซึ่งต่างกับความเห็นของสกวาทีที่เห็นว่า ธรรมที่ตั้งอยู่ครู่เดียวเป็นอาเสวนปัจจัยได้
(อภิ.ปญฺจ.อ. 903-905/322) ดูเชิงอรรถที่ 2 ข้อ 722 หน้า 770 ในเล่มนี้
3 ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/40/301-302

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :931 }


พระอภิธรรมปิฎก กถาวัตถุ [22. พาวีสติมวรรค] 9. อาเสวนปัจจยตากถา (216)
สก. ดังนั้น ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างจึงมีอยู่
สก. ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างไม่มีใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย อทินนาทาน
(การลักทรัพย์) ที่บุคคลเสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก
อำนวยผลให้ไปเกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อำนวยผลให้ไปเกิดในภูมิแห่งเปรต
วิบากแห่งอทินนาทานอย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้เป็นผู้เสื่อมโภคทรัพย์แก่
ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ วิบากแห่งกาเมสุมิจฉาจาร (การประพฤติผิดในกาม)
อย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้เป็นผู้มีศัตรูและเป็นผู้มีเวรแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ
วิบากแห่งมุสาวาท (การพูดเท็จ) อย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้ถูกกล่าวตู่ด้วย
คำไม่จริงแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ วิบากแห่งปิสุณาวาจา (การพูดส่อเสียด)
อย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้แตกจากมิตรแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ วิบาก
แห่งผรุสวาจา (การพูดหยาบคาย) อย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้ได้ฟังเรื่องที่
ไม่น่าฟังแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ วิบากแห่งสัมผัปปลาปะ (การพูดเพ้อเจ้อ)
อย่างเบาที่สุด ย่อมอำนวยผลให้มีวาจาที่ไม่น่าเชื่อถือแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์ ฯลฯ
การดื่มสุราเมรัยที่บุคคลเสพ ฯลฯ วิบากแห่งการดื่มสุราเมรัยอย่างเบาที่สุด
ย่อมอำนวยผลให้เป็นผู้วิกลจริตแก่ผู้เกิดเป็นมนุษย์”1 มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่
สก. ดังนั้น ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างจึงมีอยู่
[904] สก. ความเป็นอาเสวนปัจจัยบางอย่างไม่มีใช่ไหม
ปร. ใช่
สก. พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย มิจฉาทิฏฐิที่บุคคล
เสพ เจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมอำนวยผลให้ไปเกิดในนรก อำนวยผลให้ไปเกิด
ในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน อำนวยผลให้ไปเกิดในภูมิแห่งเปรต” มีอยู่จริงมิใช่หรือ
ปร. ใช่

เชิงอรรถ :
1 ดูเทียบ องฺ.อฏฺฐก. (แปล) 23/40/301-302

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 37 หน้า :932 }